1. ละครชาตรี
นับเป็นละครที่มีมาแต่สมัยโบราณ
และมีอายุเก่าแก่กว่าละครชนิดอื่นๆ
มีลักษณะเป็นละครเร่คล้ายของอินเดียที่เรียกว่า
"ยาตรี" หรือ
"ยาตราซึ่งแปลว่าเดินทางท่องเที่ยว
ละครยาตรานี้คือละครพื้นเมืองของชาวเบงคลีในประเทศอินเดีย
ซึ่งเป็นละครเร่ นิยมเล่นเรื่อง "คีตโควินท์"
เป็นเรื่องอวตารของพระวิษณุ ตัวละครมีเพียง ๓
ตัว คือ พระกฤษณะ นางราธะ และนางโคปี
ละครยาตราเกิดขึ้นในอินเดียนานแล้ว
ส่วนละครรำของไทยเพิ่งจะเริ่มเล่นในสมัยตอนต้นกรุงศรีอยุธยา
จึงอาจเป็นได้ที่ละครไทยอาจได้แบบอย่างจากละครอินเดีย
เนื่องจากศิลปวัฒนธรรมของอินเดียแพร่หลายมายังประเทศต่างๆในแหลมอินโดจีน
เช่น พม่า มาเลเซีย เขมร และไทย
จึงทำให้ประเทศเหล่านี้มีบางสิ่งบางอย่างคล้ายกันอยู่มาก
ในสมัยโบราณละครชาตรีเป็นที่นิยมแพร่หลายทางภาคใต้ของไทย
เรื่องที่แสดงคงจะนิยมเรื่องพระสุธนนางมโนห์รา
จึงเรียกการแสดงประเภทนี้ว่า "โนห์ราชาตรี"
เพราะชาวใต้ชอบพูดตัดพยางค์หน้า
สันนิษฐานว่าละครชาตรีได้แพร่หลายเข้ามายังกรุงรัตนโกสินทร์
๓ ครั้ง คือ
ใน พ.ศ. ๒๓๑๒
เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จยกทัพไปปราบเจ้านครศรีธรรมราช
และพาขึ้นมากรุงธนบุรีพร้อมด้วยพวกละคร
ใน พ.ศ. ๒๓๒๓ ในวานฉลองพระแก้วมรกต
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ละครของนครศรีธรรมราชขึ้นมาแสดงประชันกับละครหลวงผู้หญิงของหลวง
ใน พ.ศ. ๒๓๗๕ สมัยรัชกาลที่ ๓
แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค)
สมัยที่ยังเป็นเจ้าพระยาพระคลัง ได้ลงไปปราบ
และระงับเหตุการณ์ร้ายทางหัวเมืองภาคใต้
พวกชาวใต้จึงอพยพติดตามขึ้นมาด้วย
รวมทั้งพวกที่มีความสามารถในการแสดงละครชาตรี
นอกจากนี้ยังมีผู้สันนิษฐานว่า
ต้นกำเนิดละครชาตรีมาจากกรุงศรีอยุธยาก่อน
เดิมนั้นพระเทพสิงขร บุตรของนางศรีคงคา
ได้หัดละครที่กรุงศรีอยุธยา
ขุนสัทธาเป็นตัวละครของพระเทพสิงขร
ได้นำแบบแผนละครลงไปหัดขึ้นในเมืองนครศรีธรรมราชเป็นปฐม
จึงได้เล่นละครสืบต่อกันมา
โดยมากในเวลานี้เราเข้าใจว่า "โนห์รา"
เป็นแบบแผนการละครของชาวปักษ์ใต้
แต่ความจริงโนห์ราเป็นแบบแผนของกรุงศรีอยุธยาแท้ๆ
เป็นแต่เสียงร้องเพี้ยนไปอย่างเสียงคนปักษ์ใต้เท่านั้น
ในสมัยต่อมา
การละครของกรุงศรีอยุธยาได้ก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงไปมาก
แต่ทางปักษ์ใต้คงแสดงตามแบบเดิมอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้
ดังนั้นถ้าเราใคร่จะดูละครเป็นแบบกรุงศรีอยุธยาในสมัยต้นๆอย่างแท้จริงก็ต้องดูโนห์รา
ในสมัยรัชกาลที่ ๖
ได้มีผู้คิดนำเอาละครชาตรีกับละครนอกมาผสมกัน
เรียกว่า "ละครชาตรีเข้าเครื่อง" หรือ
"ละครชาตรีเครื่องใหญ่"
การแสดงแบบนี้บางทีก็มีฉากแบบละครนอก
แต่บางครั้งก็ไม่มีฉากอย่างละครชาตรี
ดนตรีที่ใช้ประกอบก็ใช้แบบผสม
คือใช้เครื่องดนตรีของละครชาตรีผสมวงปี่พาทย์ของละครนอก
การแสดงเริ่มด้วยการรำซัดชาตรี แล้วลงโรง
จับเรื่องด้วย "เพลงวา" แบบละครนอก ส่วนเพลง
และวิธีการแสดงก็ใช้ทั้งละครชาตรี
และละครนอกปนกัน
การแสดงแบบนี้ยังเป็นที่นิยมมาถึงปัจจุบัน
และนิยมมาแสดงเป็นละครแก้บนตามสถานที่ต่างๆ
ผู้แสดง
ในสมัยโบราณจะใช้ผู้ชายแสดงล้วน
มีตัวละครเพียง ๓ ตัว คือ ตัวนายโรง ตัวนาง
และตัวตลก
แต่มาถึงยุคปัจจุบันมักนิยมใช้ผู้หญิงเป็นผู้แสดงเสียส่วนใหญ่
การแต่งกาย
ละครชาตรีแต่โบราณไม่สวมเสื้อ
เพราะทุกตัวใช้ผู้ชายแสดง
ตัวยืนเครื่องซึ่งเป็นตัวที่แต่งกายดีกว่าตัวอื่นก็นุ่งสนับเพลา
นุ่งผ้าคาดเจียระบาดมีห้อยหน้า ห้อยข้าง
สวมสังวาล ทับทรวง กรองคอกับตัวเปล่า
บนศีรษะสวมเทริดเท่านั้น
การผัดหน้าในสมัยโบราณใช้ขมิ้นลงพื้นสีหน้าจนนวลปนเหลือง
ไม่ใช่ปนแดงอย่างเดี๋ยวนี้
ส่วนการแต่งกายในสมัยปัจจุบันมักนิยมแต่งเครื่องละครสวยงาม
เรียกตามภาษาชาวบ้านว่า
"เข้าเครื่องหรือยืนเครื่อง"
เรื่องที่แสดง
ในสมัยโบราณ
ละครชาตรีนิยมแสดงเรื่องจักรๆวงศ์ๆ
โดยเฉพาะเรื่องพระสุธนนางมโนห์รา กับรถเสน
(นางสิบสอง) นอกจากนี้ยังมี
บทละครชาตรีที่นำมาจากบทละครนอก
(สำนวนชาวบ้าน) ได้แก่ ลักษณวงศ์
ตอนถวายพราหมณ์ถึงฆ่าพราหมณ์เกสร แก้วหน้าม้า
ตะเพียนทอง สังข์ทอง ตอนกำเนิดพระสังข์
วงษ์สวรรค์ - จันทวาท
ตอนตรีสุริยาพบจินดาสมุทร โม่งป่า
พระพิมพ์สวรรค์ สุวรรณหงส์ ตอนกุมภณฑ์ถวายม้า
โกมินทร์ พิกุลทอง พระทิณวงศ์ กายเพชร
กายสุวรรณ อุณรุฑ พระประจงเลขา จำปาสี่ต้น ฯลฯ
เรื่องเหล่านี้เป็นที่นิยมกันมากในสมัย ๖๐
ปีมาแล้ว ต้นฉบับบางเรื่องยังหาไม่พบก็มี
การแสดง
เริ่มต้นจะต้องทำพิธีบูชาครูเบิกโรง
หลังจากนั้นปี่พาทย์ก็โหมโรงชาตรี
ตัวยืนเครื่องออกมารำซัดหน้าบทตามเพลง
การรำซัดนี้สมัยโบราณขณะร่ายรำผู้แสดงจะต้องว่าอาคมไปด้วย
เพื่อป้องกันเสนียดจัญไร
และการกระทำย่ำยีต่างๆ
วิธีเดินวนรำซัดก่อนแสดงนี้จะรำเวียนซ้าย
เรียกว่า "ชักใยแมงมุม" หรือ "ชักยันต์"
ต่อจากรำซัดหน้าบทเวียนซ้ายแล้วก็เริ่มจับเรื่อง
ตัวแสดงขึ้นนั่งเตียงแสดงต่อไป
การแสดงละครชาตรีตัวละครร้องเองไม่ต้องมีต้นเสียง
ตัวละครที่นั่งอยู่ที่นั้นก็เป็นลูกคู่ไปในตัว
และเมื่อเลิกการแสดงจะรำซัดอีกครั้งหนึ่ง
ว่าอาคมถอยหลัง รำเวียนขวาเรียกว่า
"คลายยันต์" เป็นการถอนอาถรรพ์ทั้งปวง
ดนตรี
วงดนตรีปี่พาทย์ที่ประกอบการแสดงมี
ปี่ สำหรับทำทำนอง ๑ โทน ๒ กลองเล็ก (เรียกว่า
"กลองชาตรี") ๒ และฆ้อง ๑ คู่
แต่ละครชาตรีที่มาแสดงกันในกรุงเทพฯ นี้
มักตัดเอาฆ้องคู่ออกใช้ม้าล่อแทน
ซึ่งเป็นประเพณีสืบต่อกันมา
และบางครั้งก็ยังใช้กลองแขกอีกด้วย
เพลงร้อง
ในสมัยโบราณตัวละครมักเป็นผู้ด้นกลอน
และร้องเป็นทำนองเพลงร่าย
และปัจจุบันเพลงร้องมักมีคำว่า "ชาตรี"
อยู่ด้วย เช่น ร่ายชาตรี ร่ายชาตรีกรับ
ร่ายชาตรี รำชาตรี ชาตรีตะลุง
สถานที่แสดง
ใช้บริเวณบ้าน ที่กลางแจ้ง
หรือศาลเจ้าก็ได้ ไม่ต้องมีสิ่งใดประกอบมากมาย
แม้ฉากก็ไม่ต้องมี
บริเวณที่แสดงนอกจากมีหลังคาไว้บังแดดบังฝนตามธรรมดา
โบราณใช้เสา ๔ ต้น ปัก ๔ มุม
เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีเตียง ๑ เตียง
จะลงเสากลางซึ่งถือว่าเป็นเสามหาชัย อีก ๑ เสา
เสานี้สำคัญมาก
(ในสมัยก่อนจะต้องใช้ไม้ชัยพฤกษ์)
เป็นเสาที่พระวิสสุกรรมเสด็จมาประทับเพื่อปกป้องผองภัยอันตราย
จึงได้ทำเสาผูกผ้าแดงปักไว้ตรงกลางดรง
เสานี้ในภายหลังใช้เป็นที่ผูกซองคลี
(ซองใส่ไม้รบต่างๆ)
เพื่อสะดวกในการแสดงที่ตัวละครจะหยิบได้ตามความต้องการโดยรวดเร็ว

2.
ละครใน
ละครในมีหลายชื่อ เช่น ละครใน ละครข้างใน
ละครนางใน และละครในพระราชฐาน เป็นต้น
สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา
และรุ่งเรืองมากที่สุดในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
ละครในแสดงมาจนถึงสมัยธนบุรี และรัตนโกสินทร์
หลังสมัยรัชกาลที่ ๖
มิได้มีละครในในเมืองหลวงอีก
เนื่องจากระยะหลังมีละครสมัยใหม่เข้ามามาก
จนต่อมามีผู้คิดฟื้นฟูละครในขึ้นอีก
เพื่อแสดงบ้างในบางโอกาส แต่แบบแผน
และลักษณะการแสดงเปลี่ยนไปมาก
ผู้แสดง
เป็นหญิงฝ่ายใน
เดิมห้ามบุคคลภายนอกหัดละครใน
จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ ทรงเลิกข้อห้ามนั้น
ต่อมาภายหลังอนุญาตให้ผู้ชายแสดงได้ด้วย
ผู้แสดงละครในต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถตีบทให้แตก
และมีลักษณะทีท้าวทีพญา
การแต่งกาย
พิถีพิถันตามแบบแผนกษัตริย์จริงๆ
เรียกว่า "ยืนเครื่อง" ทั้งตัวพระ และตัวนาง
เรื่องที่แสดง
มักนิยมแสดงเพียง ๓ เรื่อง คือ
อุณรุฑ อิเหนา และรามเกียรติ์
การแสดง
ละครในมีความมุ่งหมายอยู่ที่ศิลปะของการร่ายรำ
ต้องให้แช่มช้อยมีลีลารักษาแบบแผน
และจารีตประเพณี
ดนตรี
ใช้วงปี่พาทย์เหมือนละครนอก
แต่เทียบเสียงไม่เหมือนกัน
จะต้องบรรเลงให้เหมาะสมกับเสียงของผู้หญิงที่เรียกว่า
"ทางใน"
เพลงร้อง
ปรับปรุงให้มีทำนอง
และจังหวะนิ่มนวล สละสลวย ตัวละครไม่ร้องเอง
มีต้นเสียง และลูกคู่ มักมีคำว่า "ใน"
อยู่ท้ายเพลง เช่น ช้าปี่ใน โอ้โลมใน
สถานที่แสดง
แต่เดิมแสดงในพระราชฐานเท่านั้น
ต่อมาไม่จำกัดสถานที่

3.
ละครนอก
มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา
เป็นละครที่แสดงกันนอกราชธานี
แต่เดิมคงมาจากการละเล่นพื้นเมือง
และร้องแก้กัน
แล้วต่อมาภายหลังจับเป็นเรื่องเป็นตอนขึ้น
เป็นละครที่ดัดแปลงวิวัฒนาการมาจากละคร
"โนห์รา" หรือ "ชาตรี"
โดยปรับปรุงวิธีแสดงต่างๆ ตลอดจนเพลงร้อง
และดนตรีประกอบให้แปลกออกไป
ผู้แสดง
ในสมัยโบราณจะใช้ผู้ชายแสดงล้วน
ผู้แสดงจะต้องมีความคล่องแคล่วในการรำ และร้อง
มีความสามารถที่จะหาคำพูดมาใช้ในการแสดงได้อย่างทันท่วงทีกับเหตุการณ์
เพราะขณะแสดงต้องเจรจาเอง
การแต่งกาย
ในขั้นแรกตัวละครแต่งตัวอย่างคนธรรมดาสามัญ
เป็นเพียงแต่งให้รัดกุมเพื่อแสดงบทบาทได้สะดวก
ตัวแสดงบทเป็นตัวนางก็นำเอาผ้าขาวม้ามาห่มสไบเฉียง
ให้ผู้ชมละครทราบว่าผู้แสดงคนนั้นกำลังแสดงเป็นตัวนาง
ถ้าแสดงบทเป็นตัวยักษ์ก็เขียนหน้าหรือใส่หน้ากาก
ต่อมามีการแต่งกายให้ดูงดงามมากขึ้น
วิจิตรพิสดารขึ้น เพราะเลียนแบบมาจากละครใน
บางครั้งเรียกการแต่งกายลักษณะนี้ว่า
"ยืนเครื่อง"
เรื่องที่แสดง
แสดงได้ทุกเรื่องยกเว้น ๓ เรื่อง
คือ อิเหนา อุณรุฑ และรามเกียรติ์
บทละครที่แสดงมีดังนี้ คือ สมัยโบราณ
มีบทละครนอกอยู่มากมาย
แต่ที่มีหลักฐานปรากฏมีเพียง ๑๔ เรื่อง คือ
การะเกด คาวี ไชยทัต พิกุลทอง พิมพ์สวรรค์
พิณสุริยวงศ์ มโนห์รา โม่งป่า มณีพิชัย
สังข์ทอง สังข์ศิลป์ชัย สุวรรณศิลป์
สุวรรณหงส์ และโสวัต
สมัยรัตนโกสินทร์
มีบทพระราชนิพนธ์ละครนอกในรัชกาลที่ ๒ อีก ๖
เรื่อง คือ สังข์ทอง ไชยเชษฐ์ ไกรทอง มณีพิชัย
คาวี และสังข์ศิลป์ชัย (สังข์ศิลป์ชัย
เป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๓
เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์
โดยรัชกาลที่ ๒ ทรงแก้ไข)
การแสดง
มีความมุ่งหมายในการแสดงเรื่องมากกว่าความประณีตในการร่ายรำ
ฉะนั้นในการดำเนินเรื่องจะรวดเร็ว ตลกขบขัน
ไม่พิถีพิถันในเรื่องของขนบธรรมเนียมประเพณี
การใช้ถ้อยคำของผู้แสดง มักใช้ถ้อยคำ "ตลาด"
เป็นละครที่ชาวบ้านเรียกกันเป็นภาษาธรรมดาว่า
"ละครตลาด"
ทั้งนี้เพื่อให้ทันอกทันใจผู้ชมละคร
ดนตรี
มักนิยมใช้วงปี่พาทย์เครื่องห้า
ก่อนการแสดงละครนอก
ปี่พาทย์จะบรรเลงเพลงโหมโรงเย็น
เป็นการเรียกคนดู เพลงโหมโรงเย็นประกอบด้วย
เพลงสาธุการ ตระ รัวสามลา เข้าม่าน ปฐม
และเพลงลา
เพลงร้อง
มักเป็นเพลงชั้นเดียว หรือเพลง ๒
ชั้น ที่มีจังหวะรวดเร็ว มักจะมีคำว่า "นอก"
ติดกับชื่อเพลง เช่น เพลงช้าปี่นอก โอ้โลมนอก
ปีนตลิ่งนอก ขึ้นพลับพลานอก เป็นต้น
มีต้นเสียง และลูกคู่ บางทีตัวละครจะร้องเอง
โดยมีลูกคู่รับทวน มีคนบอกบทอีก ๑ คน
สถานที่แสดง
โรงละครเป็นรูปสี่เหลี่ยมดูได้ ๓
ด้าน (เดิม)
กั้นฉากผืนเดียวโดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามท้องเรื่อง
มีประตูเข้าออก ๒ ทาง
หน้าฉากตรงกลางตั้งเตียงสำหรับตัวละครนั่ง
ด้านหลังฉากเป็นส่วนสำหรับตัวละครพักหรือแต่งตัว
